วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สังคมก้มหน้ากับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง

แปลและเรียบเรียง: เทพพิทักษ์ มณีพงษ์
เทคโนโลยีของการสื่อสารในศตวรรษที่ 21 ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้ผู้คนได้พูดคุยและใกล้ชิดกันมากขึ้น การส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้คนทั่วโลก ข้อความหลายพันล้านข้อความถูกส่งหากันในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามในแง่ของสุขภาพ พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือและการส่งข้อความที่มากเกินไปอาจจะส่งผลร้ายต่อร่างกายได้เช่นกัน
สมาคมแพทย์จัดกระดูก (United Chiropractic Association: UCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานแพทย์ทางเลือกด้านระบบประสาท กล้ามเนื้อและกระดูก ในอังกฤษ ได้เสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อส่งข้อความเป็นเวลานานๆ อาจทำให้อายุขัยสั้นลง เนื่องจากเมื่อกดโทรศัพท์ ศีรษะของเราจะโน้มไปข้างหน้า หัวไหล่จะยกขึ้นสูง ซึ่งเรียกกันว่า ‘forward-leaning posture’ ท่าดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการหลังค่อมในวัยชรา ทำให้ปอดและหัวใจทำงานได้ไม่สะดวก ส่งผลให้อายุขัยของร่างกายสั้นลงพอๆ กับโรคอ้วน
อย่างไรก็ตาม แพทย์บางท่านให้ความเห็นว่า ข้อสรุปดังกล่าวอาจฟังดูเกินความจริงและทำให้ผู้อ่านวิตกมากกว่าเหตุ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงผลของท่าทางการกดโทรศัพท์มือถือที่จะทำให้โครงสร้างของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในระยะยาว
แต่สิ่งที่ยืนยันได้ ณ ขณะนี้ จากศูนย์วิจัยระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Centre for Musculoskeletal Research) ในสวีเดนคือ ผลของการส่งข้อความมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณหัวไหล่และหลัง เนื่องมาจากการที่ศีรษะต้องเอนมาด้านหน้ามากกว่า 10 องศา นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ใช้เกิดความเครียด ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้าและนอนไม่หลับได้
อาการของความตึงเครียดและอาการเกร็งของกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากการส่งข้อความมากเกินพอดีกลายเป็นอาการที่พบได้บ่อยของผู้คนยุคนี้ แพทย์เรียกอาการดังกล่าวว่า ‘text neck’ และแนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงว่า ควรเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นนอกเหนือจากการส่งข้อความในการสื่อสาร เช่น การนัดเจอกันหรือโทรศัพท์คุยกัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ควรหยุดพักทุก 5 นาที และยกจอโทรศัพท์ให้อยู่ระดับเดียวกับปาก เมื่อต้องการพิมพ์ข้อความจะได้ใช้เพียงแค่สายตา ไม่จำเป็นต้องก้มทั้งศีรษะและหลังเพื่อมองหน้าจอ

ที่มา: theguardian.com
     http://waymagazine.org/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2/


นวด 'ดิจิทัล ซินโดรม' คลายปม 'สังคมก้มหน้า'

   ในยุคผู้คนก้มหน้าก้มตาใช้สมาร์ทโฟนที่มีแอพพลิเคชั่นให้เลือกเล่นมากมาย จนกลายเป็นภาพที่เกิดขึ้นเยอะมากในเมืองไทยขณะนี้ และเรียกกันว่า "สังคมก้มหน้า" ซึ่งเป็นพฤติกรรมการใช้ที่สร้างรายได้ ไม่เฉพาะกับผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนและเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตต่างๆ แต่ยังเป็นช่องทางสร้างรายได้แบบใหม่ให้แก่ พนักงานนวด (Therapist) อีกด้วย

                     คุณผู้อ่าน...อ่านไม่ผิดแน่นอน เพราะเป็นเรื่องจริงที่เพิ่งมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 กับรูปแบบการนวดที่ตอบสนองกระแสสังคมนั่นคือ การนวดแบบ ดิจิทัล ซินโดรม (Digital Syndrome Massage) ของร้านนวดเพื่อสุขภาพใจกลางเมืองหลวง "ร่วมฤดี เฮลท์ มาสสาจจ์" ในซอยร่วมฤดี ถนนเพลินจิต

                     การนวดแบบ ดิจิทัล ซินโดรม เป็นอย่างไร?...

                     ...เชื่อว่าต้องมีคนตั้งคำถามนี้ เพราะส่วนใหญ่รู้จักการนวดไทยหรือนวดแผนโบราณ ซึ่งเป็นศาสตร์บำบัดและรักษาโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทย บางคนอาจวาดภาพไปว่า เป็นการใช้อุปกรณ์ที่มีระบบดิจิทัลมานวด คำตอบคือไม่ใช่ แต่เป็นการนวดโดยใช้สองมือของมนุษย์นี่แหละ

                     ดิจิทัล ซินโดรม มีที่มาและแตกต่างจากการนวดแบบอื่นๆ อย่างไรนั้น "บัว" วรอนงค์ เลิศไพรวัน สาวเมืองกรุงวัย 36 ปี กรรมการผู้จัดการ ร่วมฤดี เฮลท์ มาสสาจจ์ พร้อมตอบคำถาม โดย วรอนงค์ จบคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโท ด้านการบริหารงานภาครัฐ ไอโอวาสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้าเคยทำงานที่อื่น และตัดสินใจเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

                     วรอนงค์ เล่าว่า ร่วมฤดี เฮลท์ มาสสาจจ์ เปิดมาได้ 15 ปีแล้ว ก่อตั้งโดยคุณพ่อของเธอ วรชัย เลิศไพรวัน ซึ่งเล่นกอล์ฟเป็นประจำ ทำให้มีอาการปวดเมื่อย จึงนำประสบการณ์ส่วนตัวมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการนวดให้ตรงกับจุดที่ลูกค้ามีอาการ โดยเฉพาะคนเล่นกอล์ฟ ที่ต้องเดินหลายกิโลเมตรกว่าจะครบทุกหลุม รวมถึงใช้พลังแขนวาดวงสวิง และไม่นับรวมความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ตัวเธอเองนั้น เมื่อรู้สึกปวดเมื่อยจากการเล่นกีฬา เช่น วิ่ง ขี่จักรยาน ก็จะแวะมาใช้บริการเช่นกัน ซึ่งเริ่มจากนวดเท้า ก่อนติดใจไปถึงนวดไทย และทุกรูปแบบ

                     "สำหรับโปรเจกท์นี้เกิดจากการที่บัวชอบเล่นสมาร์ทโฟนเหมือนคนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันนิยมเล่นไลน์จากมือถือกันมาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ไลน์กันตลอด กลายเป็นสังคมก้มหน้ากันไปหมด แน่นอนว่าจะต้องมีอาการปวดเมื่อย บางครั้งก็ปวดนิ้ว ปวดแขนและรู้สึกตึง ซึ่งเกิดจากการก้มหน้าเยอะๆ บัวก็เลยมาให้พี่ๆ ที่ร้านนวด แล้วก็คุยกันว่าไม่ใช่เราคนเดียวนะที่เป็น จึงช่วยกันคิดว่าจะนวดตรงจุดไหนให้คลาย โดยประยุกต์มาจากนวดไทย ทางเราเรียกการนวดแบบนี้ว่า ดิจิทัล ซินโดรม จะพูดว่าเป็นหลักสูตรย่อส่วนจากนวดแผนไทยชุดเต็มเพื่อคนรุ่นใหม่ก็ได้นะคะ"

                     หากจะคิดว่า การนวดในลักษณะนี้ พนักงานนวดร้านอื่นก็น่าจะทำได้ ก็คิดไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะ ร่วมฤดี เฮลท์ มาสสาจจ์ ยืนยันถึงความแตกต่างที่มี ซึ่งเกิดจากแนวคิดในการบริหารงาน ที่ต้องมีการคิดค้นเทคนิคพิเศษ หาความแปลกใหม่ และก้าวถึงความทันสมัยอยู่เสมอของ วรอนงค์ ในการนำพาธุรกิจการนวดของครอบครัวให้ดำเนินต่อไปได้อย่างสวยงาม

                     "ทางร้านได้ส่งพนักงานไปรับการอบรมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะเป็นเวลา 3 เดือน โดยการนวดแบบดิจิทัล ซินโดรม ใช้เวลา 1 ชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง 30 นาที จะเน้นจุดได้นานกว่า พนักงานจะนวดกดจุดฝ่าเท้ากระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เน้นมือ ไหล่ หลัง หัว และนวดขมับศีรษะ จะนวดดูอาการด้วยว่าเป็นมากแค่ไหนและต้องการให้นวดบรรเทาส่วนใดเป็นพิเศษ นอกจากนี้เราได้ใช้ครีมในการนวดด้วย จะทำให้กดเข้าถึงเส้นได้มากกว่า

                     สิ่งที่แตกต่างจากร้านนวดอื่นๆ คือ ตัวประคบสมุนไพร ส่วนมากที่อื่นจะเป็นประคบเปียก ใช้สมุนไพรเปียก คือการนำสมุนไพรไปนึ่งเพื่อให้เกิดความร้อนแล้วเอามาประคบ จะมีน้ำสมุนไพรไหลออกมา ส่วนทางร้านเราเป็นประคบแห้ง ใช้สมุนไพรสด ใช้หม้อดินอบเกลือแล้วตั้งไฟให้เกิดความร้อน แล้วหั่นสมุนไพรสดห่อเป็นลูกประคบ ซึ่งการประคบสองแบบนี้จะใช้สมุนไพรตัวเดียวกัน"

                     หลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.ruamrudeehealthmassage.com และโทรถามได้ที่ 0-2252-9651 ปรากฏว่าได้รับความสนใจดี เพราะยังไม่มีใครคิดทำการนวดแบบ ดิจิทัล ซินโดรม มาก่อน หากจะกล่าวว่า ร่วมฤดี เฮลล์ มาสสาจจ์ เป็นเจ้าแรกที่ทำในประเทศไทยก็คงไม่ผิด เช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากการนวดแบบ คอมพิวเตอร์ ซินโดรม (Computer Syndrome Massage) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีลูกค้า ซึ่งเป็นพนักงานออฟฟิศ หรือวัยทำงาน ทั้งไทยและต่างชาติ เข้ามานวดประจำ บางคนมาถึงวันละ 2 รอบเลยทีเดียว โดยร้านเปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.00-24.00 น.

                     ในส่วน คอมพิวเตอร์ ซินโดรม นั้น วรอนงค์ ขยายความว่า ทุกวันนี้คนก็ยังใช้คอมพิวเตอร์เยอะมาก โดยการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การนั่งผิดท่า นั่งไขว่ห้าง รวมถึงการวางมือ แขน ขาผิดตำแหน่ง การนั่งงอตัว หรือยืดตัวตลอดเวลา การจดจ่อกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีเวลาผ่อนคลาย ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนเครียด เกร็ง ปวด ล้า ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ทางร้านมีบริการนวดบำบัดแบบ 45 นาที และ 90 นาที

                     "ร้านนวดในกรุงเทพฯ มีเยอะ แต่จุดเด่นของร้านเราคือ สถานที่ตั้งที่อยู่กลางเมือง ความสะอาด แม้ตกแต่งไม่หรูหรา แต่ดูสบายตา มีพนักงานนวดมืออาชีพถึง 30 คน มีการนวดหลายโปรแกรมให้เลือก อาทิ นวดไทย นวดเท้า นวดอโรม่า นวดหม้อเกลือ บอดี้สครับ เฟเชียลทรีตเม้นท์ เป็นต้น และที่สำคัญราคาไม่แพงอย่างที่คิด เคยมีลูกค้าบอกว่าอยากนวดกับพนักงานสวยๆ (หัวเราะ) แต่ที่ร้านเราไม่มีค่ะ มีแต่คนนวดมีฝีมือ พนักงานจะอยู่กับเรานานมาก บางคนอยู่มา 10 กว่าปี ฉะนั้นจึงมีความชำนาญ

                     สำหรับจุดเด่นที่สุดในตอนนี้ที่ยังไม่มีใครทำคือ การนวดดิจิทัล ซินโดรม รวมถึงที่ทำไปแล้วคือ คอมพิวเตอร์ ซินโดรม เพราะตอนนี้โลกออนไลน์กำลังมาแรง อุปนิสัยการใช้ชีวิตของเราก็เปลี่ยน โดยมองว่าสมาร์ทโฟนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 หรือเปรียบเปรยเป็นอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์ไปแล้ว ซึ่งอันนี้แหละที่มันเข้าเทรนด์และเราก็ทำงานแบบตามเทรนด์อยู่เสมอ"

                     วรอนงค์ เปิดเผยถึงจุดเด่นของร้านที่มีมาตั้งแต่ต้น และพยายามสร้างขึ้นใหม่อยู่เสมอ จนกลายเป็นร้านนวดร้านเล็กๆ ที่เยอะไปด้วยจำนวนลูกค้า และสิ่งสำคัญในการบริหารอีกเรื่องคือ การคงไว้ซึ่งคุณภาพในการนวด ทางร้านจะไม่ให้พนักงานรับลูกค้าเกินพละกำลัง พร้อมกันนี้ยังยืนยันว่า การนวดของร้านคือการผ่อนคลาย คลายเครียด คลายความอ่อนล้าจากกิจกรรมต่างๆ เป็นการนวดเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ใช่นวดเพื่อรักษา

                     "แนวคิดในการบริหารส่วนตัวของบัวนั้น ไม่มีอะไรมาก ร้านเราเปิดมานาน เรามีลูกค้าประจำเยอะ ฉะนั้นจะต้องรักษาฝีมือการนวดของพนักงานที่มีคุณภาพเอาไว้ โดยมีระดับอาจารย์คอยตรวจเช็กอยู่เสมอ มีพนักงานใหม่เข้ามาก็จะต้องผ่านการอบรมก่อน นอกจากนี้ยังมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดใจลูกค้า เช่น ช่วงนี้จะได้รับส่วนลดถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเวลา 10.00-14.00 น. ขอยืนยันว่า ราคาน่าใช้บริการค่ะ"

                     นั่นคือคำพูดส่งท้ายการสนทนาของ "บัว" วรอนงค์ เลิศไพรวัน ผู้บริหารสาว ดีกรีปริญญาโทจากแดนอเมริกัน ของ ร่วมฤดี เฮลท์ มาสสาจจ์ ที่ใช้แนวทางในการบริหารร้านนวดธรรมดาๆ แต่กลับไม่ธรรมดาสำหรับคนอินเทรนด์

                     ในส่วนของผู้เขียนนั้น ยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน "สังคมก้มหน้า" จึงได้ทดลองนวด ดิจิทัล ซินโดรม ส่วนผลเป็นอย่างไร บอกไม่ได้ ประเดี๋ยวจะเข้าข่ายโฆษณา บอกได้แค่ว่า "ลองสิคะ"
  

แนะนำ

                     หลังจากมานวดแล้ว "ร่วมฤดี เฮลท์ มาสสาจ์จ" มีคำแนะนำดีๆ ให้ลูกค้ากลับไปด้วยเสมอ อย่างในการนวดแบบ "ดิจิทัล ซินโดรม" นั้น จะแนะนำให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนเรื่องอิริยาบถในการนั่ง เช่น นั่งที่โต๊ะทำงานก็ไม่ควรนั่งนานเกิน 2 ชั่วโมง ควรมีการเปลี่ยนท่า ลุกเดิน หรือยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อในขณะนั่ง

                     ในส่วน "คอมพิวเตอร์ ซินโดรม" เมื่อรู้ว่าเกิดอาการเจ็บปวดจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ก็ให้หยุดพักการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ ด้วยการลุกเดิน หรือมองไกลไปนอกหน้าต่าง, นั่งตัวตรงวางเท้าราบกับพื้น วางแขนและมือให้พอดี ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับระดับสายตา, วางเมาส์ ในระนาบเดียวกับคอมพิวเตอร์ ในตำแหน่งที่วางในการขยับแขนและข้อมือสะดวก, ออกกำลังกาย ขยับกล้ามเนื้อ อวัยวะที่รู้สึกปวดเมื่อย เพื่อนำออกซิเจนเข้าไปในกล้ามเนื้อ และการประคบร้อน และนวดคลึง (ด้วยยา) จะบรรเทาอาการเจ็บปวดได้



--------------------

(คมคิด ธุรกิจนิวเจน : นวด 'ดิจิทัล ซินโดรม' คลายปม 'สังคมก้มหน้า' : เรื่อง...ปทุม กลิ่นหอม / ภาพ...ฐานิส สุดโต)

 อ้างอิง : http://www.komchadluek.net/detail/20150602/207258.html

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

謝承霖 《低头人生》 Life Smartphone

อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=PsH9wGB_Acs

เล่นมือถือข้ามถนนรถชนตาย เตือน"สังคมก้มหน้า"ระวัง | เดลินิวส์ วันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2558

        เว็บไซต์ข่าวจีน คั่นคั่นนิวส์รายงานจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ว่า สาวจีนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เดินข้ามถนนบริเวณสี่แยกไฟแดงพลุกพล่านแห่งหนึ่งในเมืองจงซาน มณฑลกวางตุ้ง ประมาทมัวแต่เดินเล่นโทรศัพท์ไม่สนใจรถที่ขับสวนกันไปมา สุดท้ายเจอรถบรรทุกสีขาวพุ่งเข้าชนเต็มแรงจนร่างกระเด็นลงไปกับพื้นถนน รถบรรทุกสีเหลืองที่แล่นสวนมาตามปกติจึงเหยียบศีรษะของเธอเข้าเต็มแรง เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที เหตุการณ์ทั้งหมดถูกบันทึกภาพได้โดยกล้องวิดีโอวงจรปิดที่อยู่บริเวณสี่แยก เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงก็เพียงแค่เก็บศพของเธอไปเท่านั้น เนื่องจากเธอได้เสียชีวิตไปแล้ว เหตุดังกล่าวก็สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนในพื้นที่รวมทั้งเป็นอุทาหรณ์ให้กับประชาชนที่ประมาท มีพฤติกรรมชอบเดินเล่นโทรศัพท์ขณะเดินบนถนน หรือที่เรียกว่า"สังคมก้มหน้า"ด้วย.

อ้างอิง : http://www.dailynews.co.th/foreign/322592

เดี่ยว 9 โน๊ต อุดม - เรื่อง facebook


อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=gqdGxbj9OQE

สังคมก้มหน้า



อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=qlirzq4vvpo

พฤติกรรม ‘สังคมก้มหน้า’ บดขยี้ความสัมพันธ์ครอบครัวแดนมังกร

  เอเจนซี - จีนเผยพฤติกรรมสังคมก้มหน้า เอาแต่แชทบนหน้าจอ อาจสร้างความร้าวฉานจนหั่นสะบั้นสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวลงไม่เหลือชิ้นดี
       สำนักข่าวไชน่า เดลี อ้าง (6 พ.ค.) ผลการสำรวจที่ตีพิมพ์ผ่านนิตยสารการแต่งงานและครอบครัว (Marriage and Family) ในเครือสหพันธ์สตรีทั่วประเทศจีน (All-China Women's Federation) ระบุประชาชนควรปิดสมาร์ทโฟนคู่กายสัก 1 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และการสื่อสารทางตรงระหว่างบุคคลในครอบครัว
       การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นหลังจากคณะนักวิจัยพบว่า ยิ่งคนเราใช้เวลากับอุปกรณ์สื่อสารเหล่านี้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สถานะความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวตกอยู่ในความเสี่ยงมากเท่านั้น แต่ละคนจึงควรช่วยกันเพิ่มเวลาพูดคุยและทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกัน แทนการจดจ่ออยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยมในมือ
       นิตยสารฯ ซึ่งอ้างว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ปรึกษาทางอารมณ์ขนาดใหญ่ที่สุดในจีน ได้เผยการศึกษาชิ้นนี้ออกมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. กล่าวว่าร้อยละ 73.3 ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 500 ล้านรายในประเทศ เลือกเปิดโทรศัพท์ทิ้งไว้ตลอดทั้งวันทั้งคืน
       ส่วนสามีภรรยาที่ชอบเล่นมือถือยามอยู่ด้วยกัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.2 ของคู่สามีภรรยาทั้งหมดทั่วประเทศ มีแนวโน้ม สุขใจน้อยกว่าคู่ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนในกรณีเดียวกัน โดยจากผู้ตอบคำถามมากกว่า 13,000 คน พบร้อยละ 60.1 ซึ่งแต่งงานแล้ว กล่าวโทษ ศัตรูอิเล็กทรอนิกส์รุกรานความสัมพันธ์ของพวกเขา
       การใช้สมาร์ทโฟนเกินขอบเขตยังมีแนวโน้มก่อปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ด้วยร้อยละ 36.6 ของผู้ทำแบบสอบถามระบุการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือควบคุมจัดการลูกของตัวเองให้สงบเงียบ
       ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบ โดยทีมวิจัยพบว่าร้อยละ 62.8 ของผู้ตอบแบบสอบถาม นำโทรศัพท์ขึ้นไปไว้บนเตียงนอนด้วย และร้อยละ 50.3 ก็ยังเล่นมือถือต่ออีกแม้ปิดไฟเข้านอนแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลนำไปสู่ความยากลำบากของการนอนหลับมากกว่าคนกลุ่มอื่น 5 เท่าตัว
       ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยอายุของผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ที่ 28 ปี โดยครึ่งหนึ่งแต่งงานแล้ว และส่วนใหญ่ก็จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแทบทั้งนั้น
       เจิน เยี่ยน ผู้อำนวยการสมาคมการแต่งงานและครอบครัวจีนศึกษา เตือนว่าอุปกรณ์สื่อสารกำลังกัดกินเวลาและบทสนทนาของครอบครัวมากยิ่งขึ้น รวมถึงคุกคามตัวเลขดัชนีภาพรวมความสุขของครอบครัวชาวจีนในประเทศอีกด้วย
       กรณีตัวอย่างจากนายจัง เมิ่ง นักวิเคราะห์เกมส์ออนไลน์ วัย 33 ปี ยอมรับว่าแฟนสาวมักหงุดหงิดและเริ่มชวนทะเลาะบ่อยครั้งหากเขาไม่หยุดเล่นเกมบนไอโฟน ซึ่งจังสารภาพว่า ผมวางโทรศัพท์ไม่ได้จริงๆส่วน เย่ จื้อฉิง วัย 67 ปี เล่าว่าลูกชายและลูกสะใภ้ติดมือถือมากจนเรียกว่าหลานชายใช้เวลากับปู่ย่ามากกว่าพ่อแม่ซะอีก
              “ครอบครัวของผมตกเป็นเหยื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปซะแล้วปู่เย่ปิดท้ายสั้นๆ
       ด้านผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ปรึกษาการแต่งงานเว่ยชิงในกรุงปักกิ่ง นายหวัง จวิน กล่าวว่า เป็นเรื่องผิดพลาดมากถ้าคนคิดว่าการนั่งอยู่ในห้องเดียวกันโดยมีโทรศัพท์ของใครของมันคามืออยู่ คือการใช้เวลาร่วมกัน
       หลี่ อิง อาจารย์ด้านกฎหมายผู้มีประสบการณ์เรื่องสิทธิสตรีจากมหาวิทยาลัยสตรีจีน บอกว่า การขาดแคลนกระบวนการสื่อสารแบบเผชิญหน้า ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากนั้น จะบดขยี้สายสัมพันธ์ทั้งหมดทุกประเภทลงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
      อย่างไรก็ดี สี่ว์ เหยียน คณบดีสำนักวิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง เสริมว่า ปัจจุบันประชาชนจีนจำนวนมากก็เริ่มตระหนักว่าการจมจ่ออยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ทำลายคุณภาพของความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมมากขึ้นแล้ว
             นางแบบชุดคอสเพลย์ต่างก้มหน้าเล่นมือถือระหว่างช่วงพักในงานประชุมโมบายล์อินเทอร์เน็ตโลก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง วันที่ 29 เม.ย. 2558 (ภาพ เอพี)
อ้างอิง : http://www.manager.co.th/china/ViewNews.aspx?NewsID=9580000052372